วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Transfer Paper


ปัจจุบันกระดาษทรานเฟอร์ที่ใช้กับการสกรีนเสื้อฮีตทรานเฟอร์มีอยู่หลากหลายประเภททั้งแบ่งตามลักษณะเนื้อผ้าคอตตอน เนื้อผ้าใยสังเคราะห์ หรือแบ่งตามประเภทของเครื่องพิมพ์ inkjet เครื่องพิมพ์ เลเซอร์  หรือแบ่งแยกย่อยลงไปตามประเภทเนื้อผ้าสีเข้มและเนื้อผ้าสีอ่อน การเลือกใช้กระดาษทรานเฟอร์จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะกับประเภทงาน
กระดาษทรานเฟอร์แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
1.กระดาษทรานเฟอร์ซับลิเมชั่น( Sublimation Transfer paper)  เป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นมาใช้กับเนื้อผ้าใยสังเคราะห์โดยเฉพาะ  โดยนำไปพิมพ์ลวดลายผ่านเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ใช้หมึกซับลิเมชั่นเท่านั้น  ลักษณะกระดาษด้านที่พิมพ์ภาพผิวสัมผัสจะอาบน้ำยาเพื่อเคลือบผิวเพิ่มคุณสมบัติในการดูดซับน้ำหมึกซับลิเมชั่นได้ดีเวลาพิมพ์ลวดลายจากเครื่องพิมพ์ลงกระดาษและช่วยให้หมึกระเหิดย้อมติดลงบนเส้นใยได้ดี  ตัวกระดาษจะมีคุณสมบัติซับหมึกพิมพ์ไว้ที่ผิวและเมื่อถูกความร้อน(นำไปเข้าเครื่องกดความร้อน) หมึกจะระเหิดออกจากกระดาษย้อมลงไปบนเส้นใยสังเคราะห์  ในกรณีที่นำมาใช้งานกับผ้าเนื้อผสมเส้นใยธรรมชาติ ส่วนที่เป็นเส้นใยธรรมชาติหมึกพิมพ์จะไม่สามารถยึดเกาะย้อมลงไปในเส้นใยได้โดยตรงทำให้ภาพหรือลายที่พิมพ์ไม่คมชัดหรือเมื่อนำไปซักลายจะหลุดออก (ขึ้นกับเส้นใยธรรมชาติที่เป็นเนื้อผสมว่ามีเปอร์เซ็นต์มากน้อยเพียงใด) ผลลัพธ์ที่ได้บนเนื้อผ้าใยสังเคราะห์ 100%  ภาพหรือลายบนเนื้อผ้าจะให้สีสว่างสดใสคมชัดตามคุณลักษณะทางเคมีของหมึกซับลิเมชั่น และผิวสัมผัสจะเป็นเนื้อเดียวกับผ้าไม่มีกรอบฟิลม์โพลิเมอร์  
                                                     
2.กระดาษทรานเฟอร์อิงเจ็ท (Inkjet Transfer paper)   กระดาษทรานเฟอร์สำหรับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ททดสอบและพัฒนาเพื่อใช้งานร่วมกับหมึกพิมพ์ประเภทพิกเมนต์(Pigment base ink)  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหมึกพิมพ์ที่มีอยู่ในเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทซึ่งจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องหมึกพิมพ์ Pigment และ Dye Sulimation)  เนื่องจากเนื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติจำเป็นต้องใช้หมึกพิมพ์สำหรับพิมพ์ผ้า (Pigment textile ink)  หมึกพิมพ์จึงสามารถย้อมและติดทนอยู่บนเส้นใยได้ดี  แต่การจะนำหมึกพิกเมนต์สำหรับพิมพ์ผ้าที่มีความเข้มข้นสูงในระดับเดียวกับงานพิมพ์ผ้ามาใช้กับเครื่องพิมพ์อิงเจ็ทมีผลเสียต่อหัวพิมพ์ซึ่งออกแบบมาสำหรับหมึกพิมพ์บนกระดาษมีผลทำให้หัวพิมพ์ตันได้ง่าย (แม้แต่ในเครื่องสกรีนเสื้อดิจิตอล DTG ความเข้มข้นของหมึกก็ยังเจือจางกว่าหมึกพิมพ์ผ้าอยู่มาก)   ทางออกของผู้ผลิตกระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ทก็คือการออกแบบชั้นฟิลม์(Polymer) ที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะเส้นใยผ้าขึ้นมาแทน  โดยชั้นฟิลม์จะเคลือบอยู่ที่ผิวของกระดาษทรานเฟอร์ เมื่อพิมพ์หมึกพิมพ์(ลวดลาย)ลงไปบนชั้นฟิลม์ และเมื่อนำไปกดด้วยความร้อนหมึกพิมพ์เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวซึมลงไปอยู่ภายใต้ชั้นฟิลม์หลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ทำไมจึงต้องเป็นหมึกพิมพ์ประเภท Pigment base ink เนื่องจากองค์ประกอบทางเคมีมีความเข้ากันได้ดีระหว่างหมึกพิมพ์กับฟิลม์(โพลิเมอร์)  โดยหมึกพิมพ์จะมีเม็ดเรซิ่นเคลือบอยู่บนน้ำหมึกที่มีเนื้อสี Pigment และชั้นฟิลม์โพลิเมอร์จะมีองค์ประกอบของพลาสติกเคลือบอยู่บนกระดาษทรานเฟอร์อิงเจ็ท  เมื่อถูกความร้อนหมึกพิมพ์พิกเมนต์จะหลอมละลายและซึมลงไปอยู่ใต้ชั้นฟิลม์(ไม่เยิ้มเปรอะซึมเลอะ)รวมเป็นเนื้อเดียวกันมีลักษณะเป็นเนื้อเจล ต่างกับหมึกประเภท dye sublimation เมื่อถูกความร้อนจะระเหิดอย่างรวดเร็วไม่สามารถคงสถานะอยู่ในชั้นฟิลม์ที่เคลือบบนกระดาษ  ดังนั้นหากนำเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่เติมหมึกซับลิเมชั่นมาใช้กับกระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ทจะเป็นการใช้งานกระดาษทรานเฟอร์ที่ผิดประเภททำให้ได้ผลลัพธ์ในการพิมพ์ออกมาไม่ดี
จากที่กล่าวมาข้างต้นกระดาษอิงเจ็ททรานเฟอร์ทุกยี่ห้อจึงจำเป็นต้องมีชั้นฟิลม์เคลือบอยู่  และผลลัพธ์ของการพิมพ์ที่ได้คือ เมื่อพิมพ์ลายลงบนเสื้อชั้นฟิลม์ก็จะหลงเหลือเป็นกรอบสี่เหลี่ยมมัว ๆ เคลือบอยู่บนเนื้อผ้า หากผู้ใช้งานไม่ต้องการให้เกิดกรอบสี่เหลี่ยมบนเสื้อที่พิมพ์จะต้องทำการตัดพื้นที่ส่วนเกินที่ไม่ได้ถูกพิมพ์ลวดลายออก โดยใช้กรรไกร  หรือปากกาตัดสติ๊กเกอร์ หรือในรุ่นที่สามารถนำเข้าเครื่องตัดแบบ  cutter / Plotter ได้ก็จะช่วยทุ่นแรงในการตัด  
กระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ทหลายยี่ห้อนอกจากใช้กับผ้าคอตตตอนเป็นหลักแล้วยังระบุไว้ว่าสามารถใช้ได้กับผ้าเนื้อผสมหรือเส้นใยสังเคราะห์ 100% ได้ด้วย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เนื่องจากหมึกพิมพ์ไม่ได้ถูกพิมพ์ยึดเกาะบนเส้นใยผ้าโดยตรงแต่ซึมลงไปอยู่ในชั้นฟิลม์   ตัวยึดเกาะบนเส้นใยผ้าจริง ๆ คือชั้นฟิลม์ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดเกาะได้ดีในทุกเส้นใยผ้าไม่จำกัดเฉพาะเส้นใยธรรมชาติ กระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ท(ส่วนใหญ่) จึงระบุให้ใช้ได้กับเนื้อผ้าทั้งเนื้อผสม เนื้อคอตตอน และเนื้อผ้าใยสังเคราะห์ 100% กระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ทยังแบ่งแยกย่อยตามประเภทของเนื้อผ้าได้อีก 2 ประเภทคือ ใช้กับผ้าสีอ่อนและกระดาษทรานเฟอร์สำหรับผ้าสีเข้ม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ 
กระดาษทรานเฟอร์สำหรับผ้าสีเข้ม

3.ระดาษทรานเฟอร์สำหรับเครื่องพิมพ์ Laser (Laser Transfer Paper) กระดาษทรานเฟอร์ใช้ร่วมกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ เริ่มมีการผลิตและจำน่ายออกมาทีหลังเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์ Laser มีปริมาณที่น้อยกว่า จะพบเห็นได้เฉพาะในออฟฟิตใช้ในสำนักงานเท่านั้น และราคาของเครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่มีราคาที่สูงมาก  ณ.ปัจจุบันเมื่อราคาเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถูกลง และองค์ประกอบทางเคมีของหมึกพิมพ์ประเภทผงหมึก(โทนเนอร์)มีความเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับกระบวนสกรีนเสื้อแบบฮีตทรานเฟอร์  ทำให้ผู้ผลิตกระดาษทรานเฟอร์หันมาวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติกระดาษของตนให้สามารถใช้งานได้ดีกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ เนื่องจากผงหมึกทำมาจากเรซิ่นซึ่งมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบทางเคมี  และมีคุณสมบัติในการยึดเกาะและกันน้ำได้ดีกว่าหมึกพิกเมนต์  อีกทั้งหลักการทำงานของเครื่องพิมพ์เลเซอร์คือการให้ความร้อนจาก Fuser ในการหลอมละลายผงหมึกเพื่อฉาบลงไปบนกระดาษ  อย่างไรก็ดีแม้ว่าคุณสมบัติของหมึกพิมพ์หรือผงหมึกเลเซอร์จะคุณสมบัติเหมาะกับงานฮีตทรานเฟอร์เพียงใดแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะยึดเกาะบนเนื้อผ้าได้ด้วยตัวมันเอง  การยึดเกาะยังต้องอาศัยฟิลม์(โพลิเมอร์)เป็นตัวช่วยเช่นเดียวกับกระดาษทรานเฟอร์อิงค์เจ็ท ดังนั้นกระดาษทรานเฟอร์แบบเลเซอร์จึงคงต้องมีชั้นฟิลมม์โพลิเมอร์เคลือบอยู่เช่นเดียวกัน ข้อด้อยของกระดาษทรานเฟอร์แบบเลเซอร์คือจำกัดการใช้งานกับเครื่องพิมพ์เป็นบางยี่ห้อและบางรุ่นเนื่องจากกลไกของเครื่องพิมพ์เลเซอร์อาศัยหลักการให้ความร้อนเพื่อหลอมผงหมึกที่อุณหภูมิสูงและตัวกระดาษจะต้องถูกม้วนกลิ้งผ่านลูกยางความร้อน ทำให้การออกแบบกระดาษให้เข้ากันได้ดีกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อเป็นไปได้ยาก แม้แต่ในยี่ห้อเดียวกันการใช้งานก็จำเป็นต้องเรียนรู้การตั้งค่ากระดาษ(ความหนา ความมัน)ให้เหมาะสม หากใช้งานไม่ถูกรุ่นหรือปรับตั้งค่ากระดาษไม่ถูกต้อง จะทำให้กระดาษติดที่ตัวให้ความร้อนในเครื่องพิมพ์(Fuser) เมื่อกระดาษติดชั้นฟิลม์บนกระดาษทรานเฟอร์จะหลอมละลายติดไปบน Fuserอาจเกิดความเสียหายกับเครื่องพิมพ์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น